ปัญหาท้องผูก แก้ให้ถูกวิธี รักษาหายได้ ท้องผูก เป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความทรมานให้กับผู้ที่เป็น หากปล่อยไว้นาน ไม่รีบรักษาให้หาย มีความเสี่ยงที่จะเป็นริดสีดวงทวารได้ หรือถ้ายังมีพฤติกรรมการถ่าย แบบเดิม ๆ ก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวได้เช่นกัน วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ อาการท้องผูก สาเหตุเกิดจากอะไร จะอันตรายแค่ไหน และมีวิธีการรักษาอย่างไร ห้ามพลาดเด็ดขาดค่ะ
ปัญหาท้องผูก แก้ให้ถูกวิธี รักษาหายได้

ท้องผูกเกิดจากอะไร
อาการท้องผูกจะเกิดขึ้นเมื่อ อาหารที่ถูกย่อยแล้ว แต่ค้างอยู่ในลำไส้นานจนเกินไป และเมื่อลำไส้ดูดซึมน้ำจากอาหารที่ย่อยแล้วในลำไส้นั้น จะทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง จนทำให้กล้ามเนื้อส่วนไส้ตรงนั้น ขับอุจจาระออกได้ยาก จนทำให้ต้องใช้แรงเบ่งมากขึ้น และทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ แต่อาการท้องผูกก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มากากใยน้อย ดื่มน้ำน้อยเกินไป มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อย กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไป เช่น การเดินทางไกล ไปจนถึงการกลั้นอุจจาระ นอกจากนี้แล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกนั้น ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการทานยาบางชนิด ไปจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติ ของระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
อาการท้องผูก ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

- ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร หรือแผลปริรอบๆ ทวารหนักจากอุจจาระที่แห้งแข็งครูดหลอดเลือดจนฉีกขาด
- ทำให้ความดันในช่องทรวงอกเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดตาและหู
- ทำให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้นจนเป็นสาเหตุของไส้เลื่อนได้
- ทำให้กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
วิธีการรักษา ให้หายขาด
หลายคนเบ่งถ่ายผิดวิธีมาทั้งชีวิต โดยไม่รู้ตัวจนทำให้เกิดภาวะท้องผูก ซึ่งแพทย์หรือพยาบาล จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ ในการฝึกถ่ายอุจจาระอย่างถูกวิธี โดยมีหลักการคือ ฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง เป็นหลักแทนการหายใจด้วยปอด และฝึกเบ่งโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง
ในรายที่สงสัยว่าอาจเกิดปัญหาจาก กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก แพทย์อาจแนะนำให้ทำ biofeedback training ร่วมกับการตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่ และหูรูดทวารหนัก ชนิดความละเอียดสูง (high-resolution anorectal manometry) ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจหาความผิดปกติ ของกล้ามเนื้อ ในอุ้งเชิงกราน และกล้ามเนื้อหูรูด บริเวณทวารหนัก เพื่อดูว่ากล้ามเนื้อทั้ง 2 ส่วนนี้มีการคลายตัว หรือบีบตัวประสานกับการเบ่งหรือไม่
ในกรณีที่ไม่มีความรู้สึกอยากถ่าย แม้จะมีอุจจาระมาที่ทวารหนักแล้วก็ตาม การตรวจนี้ยังช่วยให้ทราบถึง ความไวของทวารหนัก ต่อการรับความรู้สึกจากการกระตุ้น โดยจะมีการใส่ลมเข้าไปในลูกโป่ง ที่อยู่ปลายของสายตรวจ เพื่อกระตุ้นความรู้สึก ภายในทวารหนัก และดูการตอบสนองของผู้เข้ารับการตรวจ
การใช้ยาระบาย

การใช้ยาระบายควรใช้ตามแพทย์สั่ง และใช้เท่าที่จำเป็น เพราะยาระบายมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็ออกฤทธิ์แตกต่างกัน และอาจส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้
- ยาระบายที่ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มปริมาณอุจจาระ ตัวยามีคุณสมบัติเช่นเดียวกับไฟเบอร์ คือดูดซึมและอุ้มน้ำได้ดี เช่น Mucillin อุจจาระจึงเป็นก้อนและนิ่มขึ้น แต่อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด และถ่ายยากได้หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ
- ยาที่ออกฤทธิ์โดยการดูดซึมน้ำกลับเข้ามาในลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มและถ่ายง่ายขึ้น เช่น แลคตูโลส ยากลุ่มนี้แพทย์มักแนะนำให้ใช้เป็นหลัก เนื่องจากไม่ค่อยพบปัญหาการดื้อยา แต่อาจทำให้ท้องอืดได้เช่นกัน
- ยาที่ออกฤทธิ์ทำให้อุจจาระนิ่ม เป็นยาที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน เช่น arachis oil ที่ทำให้อุจจาระนิ่มลื่น และเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้โดยง่าย
- ยาที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นเส้นประสาท ที่ควบคุมกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น เช่น มะขามแขก, bisacodyl ซึ่งเห็นผลเร็ว แต่หากใช้อย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดอาการดื้อยา หรือท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาขึ้นเรื่อย ๆ และท้ายที่สุดอาจทำให้โครงสร้าง และการทำงานของลำไส้เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีจุดดำเกิดขึ้นในลำไส้
เห็นไหมล่ะคะ ว่าอาการท้องผูกนั้น อันตรายมากแค่ไหน ใครที่ไม่อยากเป็น ก็ควรดูแลตัวเองให้ดี รับประทานอาหารที่มีกากใย เพื่อให้ลำไส้ทำงานง่าย ขับถ่ายสะดวก และทำให้ติดเป็นนิสัย หากมีอาการรุนแรงมาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ห้ามซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด